หน้าเว็บ

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 20, 2560

ขั้นตอนการทำงานวาดภาพประกอบกับสำนักพิมพ์

สวัสดีค่ะสำหรับบลอคนี้ก็จะเป็นการแนะนำในเรื่องของการรับภาพประกอบจากสำนักพิมพ์ต่างๆมาทำค่ะ ซึ่งในบทนี้นั้นก็จะอธิบายอย่างละเอียดทุกขั้นตอนในการทำงานกับสำนักพิมพ์

 การหางานจากสำนักพิมพ์

จริงๆแล้วอันนี้ไม่มีอะไรยากค่ะ นั่นก็คือ เราต้องส่งอีเมล์ไปแนะนำตัวกับสำนักพิมพ์ก่อน แล้วก็แนบงานวาดของเราไปด้วย โดยที่งานวาดของเราควรจะเป็นลิงค์ homepage นั่นเองค่ะ และแนะนำว่าอย่าเพิ่งไป attach หรือแนบไฟล์อะไรไปในการติดต่อสำนักพิมพ์ขั้นแรก เนื่องจากน้องจะดูแล้วเหมือนแสปมชาวบ้านเขา เขาอาจจะลบอีเมล์น้องทิ้งไม่อ่านเลยก็ได้

ซึ่งเราก็ต้องเขียนแนะนำตัวอย่างเป็นทางการก่อน สมมติว่าน้องเป็นนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์น้องอาจจะบอกว่า สวัสดีครับ ผมชื่อ A เนื่องจากผมทราบจากท้ายเล่มว่าสำนักพิมพ์มีการรับนักวาดหน้าใหม่ๆ ผมจึงสนใจอยากทำงานนี้ พร้อมกันนี้ผมได้แนบลิงค์ที่อยู่ homepage ของผมแล้วในอีเมล์นี้ คือ http://www.aaa.com แนะนำตัวสั้นๆพร้อมบอกเหตุผลว่าทำไมจึงอยากทำงานกับสำนักพิมพ์นั้นๆ เช่นติดตามเป็นลูกค้าของสำนักพิมพ์มานานแล้ว หรือมีความใฝ่ฝันที่จะร่วมงานด้วยมานานแล้ว เป็นต้นค่ะ

ซึ่งหลักในการหางานที่ดีๆนั้น ขั้นแรกพี่แนะนำว่าให้ไปดูตามร้านหนังสือก่อนดีกว่าค่ะ เนื่องจากว่า น้องจะได้เห็นดัวอย่างงานปกจริงๆที่ตีพิมพ์มาแล้ว แนะนำว่าให้เอาสมุดโน็ตเล่มเล็กๆเท่ากับสมุดโทรศัพท์ไปจดอีเมล์ของสำนักพิมพ์หรือบ.ก.เอาไว้ค่ะ จากนั้นก็ค่อยส่งอีเมล์ไปแนะนำตัวและถ้าบ.ก.ของานดูเพิ่มหรือเทสต์ก็ตามน้ำค่ะ

ทั้งนี้การที่เราดิ้นรนอยากจะทำงานนั้นๆนี่มันเป็นคนละแบบกับการที่สำนักพิมพ์มาง้อเราหรือ อยากให้เราทำงานด้วยนะคะ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ถ้าสำนักพิมพ์เล็กๆหรือกำลังตั้งไข่อาจจะมีง้อน้องบ้าง แต่สำนักพิมพ์ใหญ่ส่วนมากไม่ง้อค่ะ เนื่องจากเขาก็มี connection และได้รับอีเมล์สมัครทำงานเกือบทุกวันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้งานกันเพราะเทสต์ไม่ผ่าน

การเทสต์งานจากสำนักพิมพ์

อันนี้นั้นให้ตกลงกับสำนักพิมพ์ดีๆค่ะ นั่นก็คือ เราจะยอมทำงานเทสต์ฟรีๆหรือไม่ ถ้าไม่ฟรีจะจ่ายเท่าไร หรือถ้าเทสต์แล้วไม่ผ่าน ทางสำนักพิมพ์และตัวน้องจะต้องทำอย่างไรต่อไป ก็หาคำตอบได้ในช่วงนี้ค่ะ

อย่างแรกก็คือ น้องต้องคุยกับสำนักพิมพ์ก่อนในเรื่องที่ว่าทำเทสต์ฟรีหรือเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งน้องควร  positioning ชัดเจนมากๆค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าน้องมีนโยบายในการรับงานวาดอย่างไร? การที่น้องวางตำแหน่งตัวเองไว้ในระดับที่สูงหน่อยก็คือ น้องจะไม่ทำเทสต์ค่ะคือทำงานจริงเลยและเบิกก่อน 25-50% ถ้าหากทางลูกค้านั้นไม่รับหรือ reject งานก็เสียเงินมัดจำ 25-50% เนื่องจากการเทสต์นั้นทำให้เราเสียเวลาเท่าๆกันหรือพอๆกับการเขียนงานจริงๆค่ะ

ขั้นตอนในการเทสต์งานก็อาจจะอยู่ที่ช่วงอาทิตย์แรกค่ะ โดยทางลูกค้าอาจจะเอาบรีฟจริงหรือบรีฟเก่าหรือใหม่มาให้น้องทำก็ได้ โดยการทำงานเทสต์ทุกครั้งต้องทำสุดฝีมือเสมอ เนื่องจากมันเสี่ยงที่ลูกค้าจะไม่จ่ายเงินจ้างต่อค่อนข้างมาก เช่นทำไป 50% แล้วเสก็ตซ์เรียบร้อยแล้วมาบอกไม่เอาทีหลัง ถ้าน้องเจอแบบนี้ถือว่าแย่ทีเดียวค่ะ

หลังจากที่น้องทำงานเสร็จแล้วก็ส่งมอบให้คนที่คุมงานหรือมีหน้าที่ในการรับภาพและคุยบรีฟงานกับน้อง ส่วนมากจะเป็นบ.ก.เองหรือว่าาอาจจะมีตำแหน่งเฉพาะเช่น Co-ordinator ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้น้องกับสำนักพิมพ์ค่ะ ซึ่งถ้าหากมีการ reject งานหรือไม่รับงาน หรืองานไม่ผ่านนั้น ทาง Co-or ก็จะติดต่อประสานงานกับน้องในการแก้ไขผลงานให้ผ่านผู้ใหญ่หรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

ซึ่งเวลาน้องได้รับงานเทสต์งาน น้องไม่ควรเทสต์เทคนิคใหม่กับงานทำมาหากินของน้องค่ะ เนื่องจากเทคนิคพวกนั้นควรเอาไว้ทำงาน personal ถ้าน้องเล่นเทคนิคแพรวพราวกับรูป สำนักพิมพ์ก็จะบอกได้ว่าต้องการสีแบบเรียบๆธรรมดา ไม่ต้องการการเล่นฝีแปรงในงาน มันก็เหมือนกับว่าน้องต้องหาสไตล์ของตัวเองในการทำงานรับจ้างให้ได้ และต้องเข้าใจใน nature หรือธรรมชาติของงานนั้นๆเช่น เวลาวาดปกแฟนตาซีเราจะให้มืดให้ทึมยังไงก็ได้แล้วแต่โทนของเรื่อง แต่สำหรับหน้าปกนิยายรัก ยังไงน้องก็ต้องเล่นสีหวาน ที่หวานกำลังดีไม่เลี่ยนไป

ขั้นตอนในการรับงานมาทำ

เมื่อน้องเทสต์ผ่าน อันนี้ก็จะเป็นการรับงานจริงมาทำ ซึ่งอันนี้จะเจอหินกว่าเดิมค่ะ เนื่องจากว่า น้องจะต้องสามารถทำงานให้ทันในเวลา ถ้ามีงานประจำน้องควรจะดูว่า การวาดภาพการ์ตูนนอกเวลางานหรือพวกงานฝิ่น รับจ้างไปเรื่อย พวกงานฟรีแลนซ์นี่ ก่อนจะรับดูดีๆก่อนค่ะ ว่าทำไหวไหม ถ้าไม่ไหวอย่าไปรับมาทำ มันจะทำให้เสียชื่อและคนอื่นก็จะไม่กล้าจ้างน้องค่ะ

ซึ่งการทำงานจริงควรส่งเสก็ตซ์อย่างน้อย 2-3 รอบ ก่อนที่จะไปลงสีเนื่องจากว่า ถ้าไม่แก้สิ่งที่ผิดพลาดในขั้นตอนเสก็ตซ์งาน มันจะล่วงเลยมาสู่ภาพจริงและออกสู่ตาประชาชน เช่น น้องอาจจะวาดหัวใหญ่ หรือผิดหลักกายวิภาคไปและอาจจะดูไม่ออก อันนี้ก็ถ้ามีอาร์ทไดคอยตบงาน ก็ส่งให้อาร์ทไดดูค่ะ จะลดช้อผิดพลาดระหว่างทำงานและต้องไปแก้จนจบได้ดี

ต่อจากนี้เราก็จะมาดูขั้นตอนในการทำงานเทสต์กันค่ะ

 1.รวบรวมข้อมูล

อันนี้ก็รวบรวมมาได้เลยค่ะ เช่น โจทย์ลูกค้าอาจจะเป็นวาดแนวแฟนตาซี ฉากหลังเป็นดอกไม้ประจำตัวนางเอกคือลิลลี่ อันนี้น้องต้องหาแบบแล้วค่ะ ซึ่งก็คือใช้อากู๋ google ในการหาแบบวาด ซึ่งถ้าไม่อยากโดนพวกไม่หวังดีจับผิดภาพน้องแล้ว น้องอย่าพยายามวาดให้เหมือน ref หรือภาพอ้างอิงมากขนาดเอาไปแปะเทียบแล้วตรงกันเป๊ะเนื่องจากว่า …น้องอาจจะถูกหาว่าลอกได้ง่ายๆค่ะ เพราะฉะนั้นระวังตัวด้วยณ.จุดนี้คะ

ส่วนอื่นๆเช่นฉากก็ให้วิธีหาเหมือนๆกันค่ะ ทั้งนี้พี่มักจะหา texture งานจากการถ่ายรูปด้วยตัวเองหรือว่า stock อย่าง  cgtexture.com,morguefile.com เป็นต้นค่ะ

2.ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการวาดภาพร่างก่อน

ถ้าร่างในคอมให้ร่างแค่ 150 dpi พอค่ะ โดยของพี่จะวาดเส้นร่าง 2-3 รอบ เมื่อถึงรอบสามนี่จะเป็นการลงเส้นจริงในคอม หรือน้องอาจจะมีวิธีในการทำงานแบบอื่นๆเช่น แสกนเสร็จเอาเข้าไปในคอมแล้วตัดเส้นอีกที หรือไม่ก็ใช้เส้นดินสอไปเลย ซึ่งอันนี้ก็นานาจิตตังค่ะ แต่พอเราจะทำงานจริง ถ้าร่างในคอม 150dpi พอลงเส้นจริงควรปรับเป็น 300 dpi นะคะ จะเป็นความละเอียดในระดับงานพิมพ์ค่ะ

3.เมื่อถึงขั้นนี้แล้วให้ส่งให้  co-or หรือ art director ดูอีกทีว่าโอเคหรือยัง

เคาะไม่เคาะก็ตอนนี้แหละ ถ้าผ่านแล้วถึงไปขั้นต่อไปค่ะ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับมาแก้ลายเส้นหรืองานเสก็ตซ์ที่เราส่งไป ซึ่งการจะแก้ไขนั้น น้องต้องมี point ที่ถูกต้องและอย่าแก้ไขตามสัญชาติญาณหรือว่าแก้ไขงานตัวเองด้วยความรู้สึกส่วนตัว

เช่น ถ้าตรงนี้ลงสีอย่างนี้น่าจะดีขึ้น อะไรทำนองนี้ ตรงนี้น้องควรให้ art director ช่วยดูให้คือเขาก็จะติค่ะ น้องอย่าทำงานเกิน ก็คือ ติแค่ 3 แก้ไป 7 จุด เปล่าประโยชน์ค่ะ เนื่องจากถ้าน้องแก้ไม่ตรงจุดและไม่ทำตามคำสั่งนั้น ก็จะโดนแก้ไขไปเรื่อยๆ ไม่ดีแน่ค่ะ เพราะฉะนั้นควรให้  art director ชัดเจนว่าแก้จุดไหน แก้อะไร ยังไงบ้างค่ะ

เมื่อน้องแก้ไขงานเสก็ตซ์เรียบร้อยและงานผ่านแล้วก็จะมาถึงขั้นการลงสี อันนี้แนะนำว่าน้องควรสังเกตงานนักวาดที่เขาผ่านไปบนปกหนังสือเรียบร้อยก่อน โดยดูว่าเขามีการใช้สีแนวไหน อย่างไร วาดหน้าตา วาด probประกอบฉากยังไง, จัดเลย์เอาท์รูปอย่างไร? ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีแนวในการเพนท์ไม่เหมือนกัน

และอย่างที่พี่บอกไปแล้วว่างาน  commercial น้องไม่ควรทดลองทำเทคนิคใหม่ๆแล้ว แต่น้องควรทำงานที่มันได้ผลจริงๆนั่นก็คือทำให้แนวนั้นผ่านไปได้ เพราะฉะนั้นพยายามใช้เทคนิคให้คงที่และวาดหน้าตาหรือแนวของหนังสือให้คงที่ คนก็จะจำงานของน้องได้อย่างติดตาค่ะ  การลงสีนั้น ก็ควรส่งให้ทาง art director ดูเป็นระยะ เช่นลงสี plain หรือสีพื้นเสร็จแล้ว แยกเลเยอร์ไว้เรียบร้อย ก็ส่งไปเลยค่ะ

4.ตอนนี้ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายนั่นก็คือส่งมอบงานค่ะ

จำไว้ว่า อย่าส่งงานเด็ดขาด ถ้ายังไม่ได้มัดจำอีก 50% หรืออาจจะ 100% ที่เราอาจจะไม่ได้ให้เขาจ่ายล่วงหน้าก่อนทำงาน ซึ่งการที่คุณส่งงานไปก่อน โอกาสที่จะโดนเบี้ยวจะสูง เนื่องจากบางครั้งเราเองก็ไม่ได้รู้ว่าสำนักพิมพ์ไหนหรือการทำงานกับสำนักพิมพ์ไหมที่มีการเบี้ยว โดยส่วนมากมักจะเป็นการเทสต์ไปมาแล้วงานไม่ผ่านมากกว่าค่ะ

feedback หลังจากงานออกไป

สำนักพิมพ์บางสำนักพิมพ์จะมีการสร้าง community ผ่านทาง website ของตนเอง โดยที่จะมีการให้วิจารณ์และให้ดาวกับหนังสือแต่ละเล่มที่ออกไปซึ่ง เราอาจจะไปตามอ่านคอมเมนต์นี้บ้างก็ได้ แต่พี่คิดว่า อย่าไปเสียเวลาอ่านเลยค่ะ เนื่องจากน้องไปอ่าน เฟลแน่นอนเพราะ เจอคนชม 100 คนก็จะเจอด่า 1 คนเป็นอย่างน้อย มันเรื่องธรรมดาโลกค่ะ และคนที่เวลาว่างๆไม่รู้จะทำอะไรก็เป็นนักเลงคีย์บอร์ดนี่แหละ การที่น้องไปตอบโต้กับคนพวกนี้ ประสาทจะเสีย และพาลไม่มีอารมณ์ทำงานไป

ทั้งนี้ feedback จะออกมาดีหรือไม่ดี อย่าไปคิดมากว่างานเรานั้นแย่ ถ้าหากไม่มีงานจากสำนักพิมพ์นั้นๆเข้ามาอีก มันอาจจะเป็นปัญหาเรื่องของการตลาดและอื่นๆที่ทำให้หนังสือนั้นยอดขายไม่ได้มากเท่าที่ควร ทั้งนี้พี่แนะนำว่าการทำงานนั้นน้องควรจะโฟกัสที่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่กว่าประเทศเรามาก เมื่อหาตลาดเจอ เราก็ทำการตลาดตรงนั้น เพื่อให้เราสามารถเติบโตขึ้นไปในจุดที่สูงกว่าเดิม นั่นก็คือเราต้องรู้จักการใช้ social proof ให้เป็นค่ะ



from WordPress http://ift.tt/2meWwta
via IFTTT

ไม่มีความคิดเห็น: