หน้าเว็บ

วันอังคาร, มกราคม 31, 2560

บทสรุป artof freelancing ของ Noah Bradley ช่วงที่2(แบบสมบูรณ์)

 ตอนที่ 1

http://ift.tt/2kcI4C9

สำหรับบทนี้ก็จะเป็นการสรุป พร้อมทั้งใส่ความคิดเห็นและเนื้อหาส่วนตัวของ art of freelancing ช่วงที่ 2 ค่ะ

 1.งานชิ้นแรกของคุณ

เราต้องจำไว้ค่ะ ว่าเราทำงานชิ้นนี้เพื่อลูกค้า ไม่ใช่เพื่อความสนุกของตัวน้องเองเป็นหลัก ไม่ใช่การวาดตามใจตัวเอง แต่เป็นการวาดตามโจทย์ ที่มันจะสนุก หรือไม่สนุกก็ตามแต่ถ้าเป็นงานเลี้ยงชีพในช่วงแรกเราก็ต้องทำงานเท่าที่มี แต่ว่าอย่ารับงานมั่วซั่วค่ะ อย่างที่บอกคือ ต้องรับงานที่เราได้เติบโตในสายงานนั้นๆ และเป็นงานที่มีอนาคต ต่อยอดได้ และไม่ควรรับงานที่ทำแล้วเสีย Branding  หรือ เสียภาพลักษณ์

การทำงานรับจ้างนั้น เราไม่ได้ทำตามใจตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าโจทย์นั้นจะสนุกหรือไม่ เราก็ต้องทำให้ลูกค้าแฮปปี้ มีความสุขกับงานของเรา โดยไม่ต้องปวดหัวกับการที่จะมีปัญหาต่างๆนานาตามมาจากความไม่เป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้น เมื่อได้งานชิ้นแรกมา เราก็ควรจะทำให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้

เมื่อได้ชิ้นงานมาแล้ว ก่อนอื่นน้องก็ต้องอ่าน Brief ให้ดีๆ โนอาห์แนะนำว่า การทำงานที่ดี น้องควรทำให้เกินเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการ เช่น ลูกค้าต้องการสเก็ตซ์ 4  ภาพ ให้น้องทำไปเลย 6-10 ภาพค่ะ ซึ่งเมื่ออ่าน Brief  แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ส่งเสก็ตซ์ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว บางคน(เช่น โนอาห์)ส่งให้ลูกค้าดูเสก็ตซ์เสร็จแล้วก็ไปงานไฟนอลเลย แต่บางคนนั้นก็ส่งเสก็ตซ์แล้วก็ส่งตอนลงสีขั้นต้น และอีกขั้นตอนนึงก็คือระหว่างลงสีขั้นต่อมา เช่น ลงแสงเงา แนะนำว่า ควรส่งงานให้ลูกด้าดูสม่ำเสมอ จะลดโอกาสในการแก้งานได้เยอะค่ะ

2.ทำงานฟรีหรือไม่ฟรีดี

โนอาห์เตือนว่า งานที่ไม่ควรรับเลยคือ งานประเภทที่ไม่ได้ให้เงินคุณก่อน แต่ให้สัญญาว่า ถ้าหากโปรเจคนี้ไปได้สวย ทางเขาจะแบ่ง % ให้เรา 5% บ้าง 10% บ้าง น้องควรรู้ว่า มีคนมากมายที่ต้องการจับเสือมือเปล่านั่นก็คือการไม่ลงทุนลงแรงอะไรเลย แต่ไปขอให้พวกนักวาดที่เป็นมือสมัครเล่นและต้องการงานมากๆไปทำงานให้ฟรีๆ เสร็จแล้วเขาก็ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ โดยที่ไม่มีการเซ็นสัญญาอะไรให้เรียบร้อย หรือแย่กว่านั้นก็คือ น้องเผลอไปเซ็นสัญญาว่าห้ามไปทำงานกับบริษัทอื่น แล้วน้องก็โดนดองงานอีก น้องควรจะตรวจสอบบริษัทหรือคนที่น้องจะร่วมงานด้วยดีๆ ว่าพวกนี้ไว้ใจได้ไหม

เนื่องจากน้องหลายๆคนอาจจะคิดว่างานฟรีนั้นเป็นหนทางไปสู่งานที่รับจ้างจริงๆจังๆก็ได้ จึงตั้งใจทำงานฟรีมาก โนอาห์บอกอีกว่า งานที่น้องควรทำฟรีนั้นก็คือพวกงานประกวด นั่นก็คือจะมีคนในวงการร่วมส่งภาพเข้าไปประกวดมากมาย ถึงแม้เราไม่ได้รางวัล เราก็จะเห็นได้ว่า ไอเดียของผู้ประกวดที่เจ๋งๆมีอะไรบ้าง และอะไรทำให้ผู้จัดประกวดเลือกงานของคนๆนั้นเป็นต้นค่ะ

ซึ่งการที่มีคนมาติดต่อน้องเพื่อทำงานฟรีนั้น น้องต้องระลึกว่า การที่น้องทำงานฟรีให้คนอื่น น้องเสียเวลาในการทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตน้องจริงๆ หรือโปรเจคของตัวเองหรือส่วนตัว ที่จะทำให้น้องสามารถทำแนวที่อยากทำจริงๆได้ไปค่ะ งานที่น้องควรทำฟรีอีกก็พวก probono project หรือทำงานให้องค์กรกุศลที่น้องมีความเชื่อและศรัทธาในองค์กรนั้นๆค่ะ

 3.งานที่น่าเบื่อ (Drudge work) 

งานพวกนี้คืองานที่น้องไม่ค่อยอยากทำเลยค่ะ เนื่องจากเป็นงานที่น่าเบื่อ ไม่ได้พิสูจน์ความสามารถของน้อง และเป็นงานที่น้องอาจจะต้องปรับตัวเยอะเพื่อสามารถทำงานนั้นๆได้ การรับงานประเภทนี้มาทำนั้น ราวกับงานสามารถดูดพลังชีวิตน้องไปได้ โนอาห์แนะนำว่า ถ้าหากน้องต้องทำงานประเภทนี้จริงๆ ให้คิดราคางานนั้นๆสูงขึ้นมาอีก เพื่อที่น้องจะได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดไป

นั่นก็คือ ถึงแม้งานน่าเบื่อ แต่ถ้าต้องทำงานนั้นเพื่ออยู่ได้ก็อาจจะต้องทำ ในกรณีที่น้องไม่มีทางเลือก อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นงานที่น้องชอบ น้องอยากทำ แม้จะได้ราคาน้อยหน่อย น้องก็อาจจะตกลงทำ แต่ว่าลองต่อรองเรื่องราคากับผู้ว่าจ้างอีกก้ได้ เพื่อหาจุดสมดุลย์ในงานนั้นๆค่ะ แต่โดยมากแล้ว การที่ตกอยู่ในสถานภาพไม่สามารถเลือกงานได้ ถึงแม้น้องต้องตกอยู่ในสภาพนั้นก็ตาม น้องไม่ควรรับทุกงานที่เข้ามาทำ ควรจะสกรีนงานที่น้องจะทำหน่อยค่ะ

อย่างไรก็ตามถ้าหากน้องต้องเลือก ระหว่างการรับงานทุกงานที่เข้ามาหาน้อง กับรอเวลาที่โปรเจคที่น่าสนใจจริงๆเข้ามาหาน้องแล้วค่อยเลือกทำ โนอาห์แนะนำว่าเราควรอยู่ระหว่างนั้นค่ะ นั่นก็คือ งานที่โอเคในระดับนึง แม้จะไม่น่าสนใจมาก แต่จ่ายเงินดี และงานที่น่าสนใจมาก ได้กระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์ แต่จ่ายเงินน้อย

เรื่องนี้เรามีประสบการณ์ตรงในออฟฟิศเลยค่ะ นั่นก็คือ สมัยเป็น digital artist ที่ Singapore เราเคยสงสัยว่าทำไมสตูดิโอไม่ยอมรับแต่งานที่มันได้ใช้ความคิดสูงๆหรือพวกงานที่เราคิดว่ามันดู Hi-end แสตนลีย์ที่เป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ อยู่ขณะนั้น เคยถามเรากลับว่า งาน High-end คืออะไร สำหรับเรา?เราตอบว่า งานที่ได้ใช้สมองครีเอทีฟสูงๆ แสตนลีย์บอกว่างานในสตูดิโอ มีทั้งงานที่ออกหัวครีเอทีฟน้อยหน่อย แต่เงินดีมาก กับงานที่ไม่ได้ออกความคิดมาก คือทำงานตามคำสั่ง แต่ได้เงินเยอะค่ะ ซึ่งการที่จะทำให้สตูดิโออยู่รอดจะต้องมีงานทั้งสองแบบคละกันไป

มีอีกสิ่งที่น้องอาจจะต้องรู้ในการเป็น professional  นั่นก็คือการที่น้องจะอยู่ได้ ช่วงแรกๆนั้น น้องอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก น้องอาจจะจำเป็นรับงานที่ไม่อยากทำจริงๆเข้ามา หรืองานที่น่าสนใจน้อย แต่ได้เงินดี จุดสำคัญคือน้องต้องสามารถ balance งานทั้งสองแบบได้ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีในการรักษาสมดุลย์ที่ว่าไม่เหมือนกันค่ะ ทั้งนี้ถ้าน้องไม่อยากทำงานแนวนั้นๆต่อ อย่าใส่งานลงไปในพอร์ทโฟลิโอค่ะ ใส่เฉพาะแนวที่เราอยากจะทำก็พอ

 4.การปฏิเสธงาน ( turning down job)

อันนี้ก็คือน้องอยู่ในช่วงที่น้องสามารถเลือกงานได้บ้างแล้ว วิธีแรกในการปฏิเสธงานลูกค้านั่นก็คือ บอกว่าน้องอยากทำงานชิ้นนี้นะแต่น้องงานยุ่งมาก ตารางเวลาเต็มแล้ว การพูดแบบนี้เป็นการรักษาน้ำใจลูกค้า รวมทั้งยังดูว่าน้องเป็นนักวาดที่เป็นที่ต้องการมาก เนื่องจากมีเวลาถูก book ไว้เต็มทั้งหมด นอกจากนี้่แล้ว ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกดี เนื่องจากน้องบอกไปว่าน้องอยากทำงานกับเขา เพราะฉะนั้นลูกค้าก็จะ Keep connect  กับน้อง เมื่อมีงานอะไรที่น้องทำได้ เขาอาจจะส่งมาให้น้องดูอีก

วิธีที่สองในการปฏิเสธงาน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเสี่ยงดวงเล็กน้อยถ้าน้องใช้วิธีนี้ นั้นก็คือ การตั้งราคาให้เวอร์ขึ้นมาอีกหน่อย ก็คือ เราไม่ได้ชอบงานนี้นะ แต่ถ้าได้งานนี้ และเงินถึงจริง เราก็สามารถทำให้ได้ วิธีนี้จะเป็นการขึ้นราคางานอย่างเนียนๆ เป็นวิธีที่เราก็ใช้เช่นกันค่ะ ในกรณีที่มีงานที่เราไม่อยากทำเข้ามา ในขณะเดียวกัน ลูกค้าที่น้องควรใช้วิธีนี้ควรเป็นลูกค้าที่น้องค่อนๆไปทางเฉยๆ คือถ้าไม่ได้ร่วมงานก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ซึ่งถ้าหากลูกค้า ดันตกลงในราคาที่น้องเสนอไป ก็อาจจะดี เนื่องจากทำให้แบรนด์น้องดูแล้วสูงขึ้นมาอีกระดับ เกินกว่านักวาดคนอื่นๆที่รับงานที่ใกล้เคียงกันกับงานดังกล่าว

สำหรับวิธีที่ 3 ในการปฏิเสธงาน นั่นก็คือบอกอาร์ทไดไปตรงๆว่า งานนี้เราไม่อยากทำนะ ไม่อยากเก็บงานไว้เป็นพอร์ทโฟลิโอ โดยต้องมีวิธีการพูดดีๆหน่อยค่ะ  ไม่ใช่ขวานผ่าซากว่า งานคุณไม่น่าสนใจ เราไม่เอา อะไรแบบนี้มันก็เกรียนแตกไปหน่อยนึง ซึ่งการพูดที่รักษาน้ำใจนั้น ในอนาคต อาร์ทไดอาจจะเอางานที่เขาคิดว่าเหมาะสมกับเรามากกว่ามาให้ก็ได้ค่ะ

 5.สัญญาจ้าง(contract) 

กรณีนี้ก็คือ โนอาห์แนะนำว่า น้องไม่ควรทำงานกับบริษัทใดก็ตามที่เราไม่ได้เซ็นสัญญาจ้าง เนื่องจาก โดยปกติแล้วทางฝั่งอเมริกา ถ้าไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างชัดเจนนั้น มันจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลัง แต่โดยปกติ ในเมืองไทย ส่วนมากจะเป็นสัญญาปากเปล่าหรือสัญญาใจกันมากกว่า ซึ่งในการรวมเล่มหนังสือของน้อง เช่น ทำพ็อคเกตบุคขึ้นมานั้น ก็ต้องมีการเซ็นสัญญาเช่นกัน

ซึ่งถ้าน้องจะต้องมีการเซ็นสัญญา ให้อ่านสัญญาให้ละเอียดมากๆทุกครั้งก่อนจะเซ็น เนื่องจากสัญญาบางอย่างอาจจะทำให้น้องเดือดร้อนมากๆได้ (ยกตัวอย่างเช่น สัญญาค้ำประกันเงินกู้ ถ้ามีใครเรียกให้น้องไปเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ อย่าไปเซ็นทีเดียวค่ะ เนื่องจากน้องต้องรับจ่ายหนี้แทน) ซึ่งสัญญาในการทำพ็อคเกตบุคก็จะเป็นสัญญาในระยะที่กำหนดเช่น 2-3 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้สัญญาที่เรามักจะพบได้ในการทำงานกับต่างชาตินั่นก็คือ NDA (non disclosure agreement) ซึ่งเป็นสัญญาเกี่ยวกับการที่น้องจะไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับใครก็ตามที่น้องรู้จัก ซึ่งน้องบางคนอาจจะไม่ระวังตัว คิดว่าบอกญาติ บอกพี่น้อง ไม่เป็นไรมั้ง อันนี้ถ้าผู้ว่าจ้างพบ เขาอาจจะไม่จ้างต่ออีกต่อไปเลยค่ะ ระวังให้ดีนะคะ

 6.ลิขสิทธิ์งาน(copyrights)

โดยปกติแล้ว ลิขสิทธิ์งานของน้องนั้น งานที่น้องวาดขึ้นมาทั้งหมด หรือ อะไรก็ตามที่น้องสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย งานศิลปะ ถือว่าลิขสิทธิ์นั้นเป็นของน้องตั้งแต่เริ่มสร้างผลงานแล้วค่ะ ซึ่งในทางกฏหมายแล้วถ้ามีใครนำผลงานของน้องไปใช้ ถือว่าละเมิดเรื่องของลิขสิทธิ์ น้องสามารถฟ้องร้องได้ค่ะ โดยที่ถ้าน้องไปจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะเป็นการป้องกันแบบสมบูรณ์และน้องจะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากขึ้นได้

ซึ่งน้องบางคนอาจจะสงสัยว่างานโลโก้บริษัทใหญ่ๆถึงราคาสูงมาก เนื่องจากผู้ซื้อนั้น ซื้อสิขสิทธิ์ในทุกๆอย่างหรือซื้อ all rights นั่นเองค่ะ นอกจาก all rights แล้ว น้องนั้นสามารถเลือกขายลิขสิทธิ์ไปเป็นอย่างๆ เช่น เซ็นสัญญาเพื่อให้คนนั้นๆสามารถนำลายเสื้อที่น้องวาดไปจัดจำหน่ายได้ในประเทศอื่นๆเช่นเกาหลี,หรือ ภาพใน stock photo ก็มีลิขสิทธิ์หลายแบบ นั่นก็คือ น้องสามารถขาย/ซื้อลิขสิทธิ์ภาพแบบธรรมดา ในการใช้งานทั่วๆไป ซึ่งผู้ขายนั้น ก็สามารถขายงานภาพเดียวกันนั้น ให้กับผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง โดยไม่มีอะไรผิดจากกฏหมายลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ น้องสามารถกำหนดได้ในสัญญาในกรณีที่น้องเป็นผู้ว่าจ้างเอง เช่น เป็นนักวาดปกนิยาย แต่จ้างนักวาด วาดภาพประกอบมาวาดงานให้ คุณอาจจะให้เซ็น NDA(non disclosure agreement)แล้วก็สัญญาอีกฉบับ ได้แก่ การห้ามหรือป้องกันไม่ให้นักวาดนำหน้าปกนี้ไปขายให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆ นอกจากนี้น้องยังระบุได้อีกว่าน้องต้องการซื้อสิทธิ์แบบไหน ลงสื่ออะไรบ้าง

การที่เป็นลิขสิทธิ์แบบที่ขายสิทธิ์ทุกอย่างให้ผู้ว่าจ้างทั้งหมด นั่นก็คือ สัญญา Exclusive ผู้ว่าจ้างจะครองสิทธิ์ all rights หรือลิขสิทธิ์ทั้งหมด โดยที่เราเป็นผู้สร้างงานก็จริง แต่การเซ็ญสัญญาชนิดนี้ หรือถ้าหลวมตัวไปเซ็นแล้ว มันก็คือ การยกสิทธิ์ให้คนๆนั้นหรือบริษัทนั้นๆไปทำต่อทั้งหมด หรือไปต่อยอด ซึ่งก่อนจะเซ็นสัญญา ดูให้ดีว่าสัญญามันผูกมัดบ้างหรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบทประพันธ์ ถ้ามีการซื้อสิทธิ์ไปโดยบริษัท B นักเขียนก็จะขายสิทธิ์ในการผลิตละครให้กับสถานีหนึ่ง ซึ่งในเนื้อหาสัญญาอาจจะมีระบุว่า จะขายสิทธิ์ให้กับบริษัท B โดยผู้เดียว โดยที่เป็นการถ่ายทอดละครในประเทศไทยอย่างเดียว ถ้ามีประเทศอื่นๆด้วย จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เราเป็นประเทศๆไป

รวมไปถึงการที่น้องวาดปกนิยายในไทย ถ้าสมมติน้องไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรกับบริษัท น้องยังคงลิขสิทธิ์แบบ all rights reserve อยู่ เพราะฉะนั้นการที่น้องเอางานไปพิมพ์หรือขายเป็นภาพ print ก็จะไม่ผิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ทั้งนี้ก็มีลิขสิทธิ์ที่กำหนดเอาไว้ในต่างประเทศ หลายๆประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การที่น้องนำงานหรือแฟนอาร์ทของชาวญี่ปุ่นมาพิมพ์ขาย อันนี้โดนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เต็มๆค่ะ

ในการที่จะรับงานไหนก็ตาม โดยส่วนมากแล้ว อาร์ติสท์มักจะอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบนั่นก็คือจำยอมเซ็นสัญญา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานประจำ ที่ลิขสิทธิ์ของภาพนั้นถูกซื้อไปทั้งหมด ในงานประจำ ไม่ว่าเราจะผลิตอะไรออกมาก็ตกเป็นของเจ้านายของเรานั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าเรารับตรงนี้ไม่ได้ เราก็อาจจะอยู่ได้ยาก รวมถึงส่วนมากแล้ว นายทุนหรือผู้ว่าจ้าง เขาก็มักจะร่างสัญญาที่เขาอยู่ในจุดที่ได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ถ้าให้แนะนำคือ ดูให้ดีๆก่อนจะเซ็นสัญญาอะไรค่ะ

 7.การรับเงินค่าจ้าง 

เรื่องของการรับเงินค่าจ้างนั้น เป็นเรื่องที่หลายๆคนต้องเจอ นั่นคือ การเบี้ยวค่าจ้างค่ะ ถ้าถามว่า มีวิธีป้องกันไหม ก็มี นั่นก็คือการจ่ายเงินก่อนทำ  1 ใน  3 ของค่าจ้าง ได้แก่ ก่อนเริ่มงาน,หลังเสก็ตซ์ผ่าน และตอนจบงาน หรือจะเป็น 50/50 ก็ได้ค่ะก็คือ จ่ายก่อน 50% หลังงานเสร็จอีก 50% ด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ลูกค้าจะชักดาบก็ตาม เราก็ยังโอเคอยู่ คืออย่างน้อยก็ได้ค่าเสียเวลามาค่ะ

ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว สำหรับงานเทสต์ น้องส่วนใหญ่ มักจะไม่ชาร์จค่าเทสต์งานกันเป็นปกติ อันนี้ถ้าทำกับสำนักพิมพ์ใหญ่แล้วเราเป็นนักวาดที่มีชื่อในระดับหนึ่งแล้ว เราอาจจะชาร์จค่าเทสต์ก็ได้ค่ะ โดยส่วนมากในสตูดิโอก็ต้องมีการเทสต์งานก่อนทั้งนั้น อย่างเช่น เทสต์ให้ลงสีลายเส้น,หรือวาดเส้น เพื่อดูว่าเราสามารถจัดการกับงานได้ขนาดไหน

ยังไงก็ตามถ้าสำนักพิมพ์ใหญ่ ก็จะมี cycle ของการจ่ายเงินให้กับฟรีแลนซ์ ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับระบบของสำนักพิมพ์นั้นๆในขั้นตอนการอนุมัติเงิน ถ้ามีการจ่ายเงินช้าแปลว่าต้องผ่านระบบหลายชั้น ซึ่งสำนักพิมพ์ไทยโดยส่วนมากจะจ่ายให้ภายใน  1 เดือนค่ะ ส่วนค่าต้นฉบับหนังสือ จะจ่ายให้หลังจากออกวางแผงไปแล้ว

ซึ่งการรับเงินนั้น น้องสามารถเลือกที่จะชาร์จค่าจ้างได้  2  วิธีก็คือ

-Fix rate  หรือค่าจ้างที่ตายตัว การชาร์จเงินแบบนี้ ก็คือการเหมาจ่าย โดยส่วนมากแล้วคนไทยมักจะใช้วิธีนี้มากกว่าค่ะ

-Hour rate วิธีนี้ฝรั่งหรือต่างประเทศจะนิยมใช้กัน นั่นก็คือการชาร์จเป็นชั่วโมง

โนอาห์แนะนำว่าเวลาที่น้องชาร์จเงินค่าจ้างนั้น น้องควรที่จะชาร์จราคาสูงขึ้นกว่าปกติมาสักประมาณนึง ซึ่งโดยส่วนมากถ้าน้องชาร์จต่ำไปจะมีข้อกังขาค่ะ ว่าน้องจะสามารถทำงานนั้นได้ดีหรือไม่ การที่น้องชาร์จสูงขึ้นมา มีโอกาสอยู่  2 อย่างที่จะเกิดขึ้น นั่นก็คือ ลูกค้าอาจจะปฏิเสธงานเนื่องจากสูงกว่า budget มาก หรืออีกอย่างนึงก็คือ ลูกค้าจะต่อรอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนักหากลูกค้าเลือกที่จะต่อรองราคากับน้อง เผลอๆน้องอาจจะชาร์จได้มากกว่าเดิมอย่างที่คิดไว้ก็ได้

การที่ทำแบบนี้นั้น มันก็เหมือนกับเรื่องของการจีบสาว นั่นก็คือ น้องจะต้องเป็นคนที่ไม่  Desperate หรือต้องการสิงนั้นๆมากเกินไป น้องสามารถหันหลังกลับและไม่รับงานได้ทุกเวลา และน้องก็สบายดีด้วยถึงแม้ไม่รับงานนั้นๆน้องควรจะมีทัศนคติประมาณนี้ก่อนค่ะ นอกจากนี้แล้วน้องยังสามารถถามลูกค้าได้ว่าลูกค้ามี Budget เท่าไร

 8.การแก้ไขและเดดไลน์(revision and deadline)

การแก้ไขงานนั้นควรจะกำหนดไปเลยว่า แก้ไขได้กี่ครั้งค่ะ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะเจอแก้ไขไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด และเราก็จะเสีนเวลาในการทำงานเพิ่ม เราควรกำหนดไปเลยว่าที่ราคานี้ แก้ไขได้กี่ครั้ง ถ้าแก้มากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้อาจจะต้องชาร์จเป็นชั่วโมง หรือคิดเหมาก็ตามแต่จะสะดวก ส่วนเรื่องเส้นตายหรือเดดไลน์นั้น บางแห่งจะกำหนดในสัญญาจ้างเลยว่างานชิ้นนี้ต้องส่งมอบเมื่อไร

ส่วนงานที่ไม่ได้กำหนดในสัญญา แต่อาจจะเป็นการตกลงกันปากเปล่าหรือทางอีเมล์ น้องควรหาปฎิธินที่มีตัวเลขใหญ่ๆมาสักอัน แล้วกาวันที่ต้องส่งงานเอาไว้เลย เพื่อจะได้ไม่ลืมค่ะ เพราะมันสำคัญมากเรื่องการส่งงานให้ตรงเวลา

 9.เข้าใจอาร์ทได(art director)

การทำงานกับอาร์ทไดนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า อาร์ทไดนั้นก็เป็นคนๆหนึ่งที่ต้องการที่จะดูดีในสายตาคนอื่นๆ นั่นก็คือ เป็นผู้ค้นพบอาร์ติสท์หน้าใหม่ๆไฟแรง  และทำงานเสร็จรวดเร็วตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจอาร์ทไดค่ะ อย่างแรกเลยคือ ถ้าน้องคุยกันทางอีเมล์กับอาร์ทไดหรือลูกค้าคนอื่นๆ ควรจะให้อีเมล์สั้น เข้าไว้ เนื่องจากคนเหล่านี้เขายุ่งอยู่แล้วกับการทำงานในแต่ละวัน การที่น้องอีเมล์ไปยาวๆมันรบกวนและรำคาญที่จะต้องมากรองเอาเองว่าน้องต้องการสื่ออะไร เพราะฉะนั้น อีเมล์ที่ส่งควรเรียบ ง่าย สั้น ตรงประเด็น นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการสะกดคำผิดและบางอย่างที่เป็นความผิดเล็กๆน้อยๆเช่น ลืม attach ไฟล์รูป เป็นต้น

นอกจากนี้การเขียนอีเมล์ หรือการ line ไปหาอาร์ทได หรือลูกค้า หลีกเลี่ยงการใช้ emoticon,sticker,smilies อะไรก็ตามค่ะ เนื่องจากมันดูแล้วไม่เป็นมืออาชีพ ถ้าน้องต้องการจะใช้ น้องต้องดูด้วยว่าลูกค้าใช้มาก่อนหรือเปล่า ถ้าใช้มาก่อนก็เราอาจจะใช้ได้

สิ่งที่อาร์ทไดแตกต่างจากลูกค้าปกติก็คือ เมื่อน้องทำงานกับอาร์ทได อาร์ทไดจะมีภาพในหัวหรืออิมเมจของงานอยู่แล้ว เราก็แค่ไปเติมเต็มภาพนั้น แต่ลูกค้าทั่วไป มักจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เนื่องจากลูกค้าส่วนมาก บางทีอาจจะอยู่  field อื่นๆที่ไม่ใช่ศิลปะ เพราะฉะนั้นน้องจะต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าที่ไม่ใช่อาร์ทได โดยการเป็นอาร์ทไดให้ตัวเอง

นอกจากนี้อาร์ทได ยังเกลียดการเซอร์ไพร์สอีกด้วย นั่นก็คือที่บอกไป เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคในการวาดงาน คือสมมติน้องส่งงานเสก็ตซ์จน approve แล้ว แต่พอขั้นลงสีจริง น้องไปทำเทคนิคใหม่แปลกตา อันนี้ก็จะทำให้อาร์ทไดส่งงานมาแก้ค่ะ นอกจากนี้คนที่ deal งานกับน้องอาจจะไม่ใช่อาร์ทได แต่อาจจะเป็น บ.ก.หนังสือก็ได้ สำหรับคนไทย ซึ่งหลักการก็เหมือนกันไม่ว่าจะ deal กับใครก็ตาม แต่การ deal กับลูกค้าที่ไม่ค่อยเข้าใจ field ศิลปะเราอาจจะต้องอธิบายให้เขาเห็นภาพมากขึ้นโดยอย่าใช้คำฟุ่มเฟือยในอีเมล์

 10.รายละเอียดขั้นตอนในการทำงาน

เรื่องนี้ก็คือ เวลาที่เราได้รับอีเมล์เรื่องของรายละเอียดงานมานั้น เราควรจะจด หรือเซฟในที่ๆมองเห็นได้ง่ายๆ ได้แก่ ขนาดของงานขนาดเท่าไร งานวางแนวตั้งหรือแนวนอน ซึ่งถ้าเราทำสิ่งพวกนี้ผิดพลาดมันก็ทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพอีกเช่นกัน ทั้งนี้ควรอ่านบรีฟงานให้ดีๆ อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือถ้าเป็นงานหน้าปก ก็อาจจะต้องอ่านตัวนิยายทั้งเรื่องก่อนที่จะเขียนงานขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีขึ้น

ในจุดนี้น้องต้องเช้าใจ format ในการพิมพ์ก่อนค่ะ นั่นก็คือไฟล์โดยส่วนมากที่ทำเพื่อการพิมพ์ออกมานั้น ส่วนมากจะเป็น 300 dpi ถ้าเป็น comic ต้องเป็น 600 dpi ซึ่งถ้าน้องเผลอย่อไฟล์ไปแล้ว และเซฟทับด้วย เท่ากับงานเสียไปเลย น้องไม่สามารถขยายงานให้เท่ากับเสกลเดิมโดยไม่แตกเป็นพิกเซลได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อการหลีกเลี่ยงเซฟทับคือการเซฟไฟล์ใหม่เรื่อยๆ ระหว่างทำงาน เช่น เมื่อยังไม่รวมเลเยอร์เซฟไว้ไฟล์หนึ่ง รวมเลเยอร์แล้วเซฟไว้อีกไฟล์หนึ่งค่ะ  และสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจอีกอย่างก็คือเรื่อง format  ในการส่งไฟล์งาน ซึ่งถ้าส่งโรงพิมพ์นั้นต้องเป็น PDF ค่ะ ถ้าเป็นการส่งบริษัททั่วไป ใช้ PSD หรือ TIFF ก็ได้ค่ะ

ขั้นต่อมาคือเรื่องของการเสก็ตซ์งาน การเสก็ตซ์งานนั้นอย่างที่บอกคือถ้าลูกค้าต้องการ 4 ให้ส่งไป 8 ชิ้นเลย โดยปกติ ลูกค้าบางคนมักจะเลือกปกที่ดูแย่ค่ะ ซึ่งมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ โนอาห์แนะนำว่า ในการที่จะทำงานนั้น ควรจะใส่ใจพอสมควร ซึ่งถึงแม้ว่าลูกค้าจะเลือกง่นชิ้นที่แย่ แต่เราสามารถวาดให้มันออกมาเป็นภาพที่ดูดีได้

เมื่อเสก็ตซ์ผ่านแล้ว ก็อาจจะมีแก้ไขบ้าง ซึ่งเราอาจจะกำหนดไว้ก่อนทำงานว่าลูกค้าสามารถแก้ได้กี่ครั้ง เมื่อเสก็ตซ์ผ่านก็มาถึงการจบงาน ซึ่งไม่ควรทดลองเทคนิค ไม่ควรทำอะไรก็ตามที่เป็นการเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธงาน ให้ทำอะไรที่คิดว่าผ่านชัวร์ๆดีกว่าค่ะ

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือการส่งงานให้ตรงเวลา ย้ำว่าถ้าเป็นงานชิ้นแรกไม่ควรส่งงานเลทเลยค่ะ เนื่องจาก ถ้าคุณส่งงานเลทคุณจะไม่ได้งานจากสำนักพิมพ์นั้นอีกเลย ถ้าเป็นสำนักพิมพ์หรือบริษัทในต่างประเทศควรเช็ค timezone ให้ดีๆเนื่องจากมีเวลาต่างกัน

ในการที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ ให้ส่งงานก่อนเวลาจะดีกว่าค่ะ เรื่องนี้ซีเรียสมาก ถ้าหากมีเหตุการณ์อะไรที่น้องรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอน เช่น บังเอิญแม่ป่วยกระทันหัน หรือเรื่องที่คุณต้องสะสางที่สำคัญมาก ซึ่งมีผลทำให้อาจจะส่งงานไม่ตรงเวลา ให้คุญกับอาร์ทไดก่อนว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเลื่อนส่งไปอีก 1-2 วัน แต่ถ้าเป็นไปได้ ส่งก่อนดีที่สุดค่ะ

และขั้นตอนสุดท้ายนั่นก็คือ การจ่ายเงินของลูกค้า ถ้าเป็นต่างชาติเราอาจจะใช้ paypal ในการรับเงิน ซึ่งมันก็จะมีบางกรณีที่คนเจอลูกค้าเบี้ยวเงินอยู่เป็นระยะๆ ถามว่าขั้นตอนนี้จะป้องกันยังไง ก็คือ อย่าส่งไฟล์ high-res ไปให้ลูกค้าในขณะที่ยังไม่ได้รับเงินค่ะ วิธีในการทวงเงินแบบซอฟท์ๆคือการส่ง invoice หรือใบกำกับภาษี,ใบเสร็จไปให้ลูกค้า ถ้าเป็น paypal ก็เข้าไปที่ช่อง request money เพื่อให้ระบบส่งเมล์ไปทวงเงินลูกค้าและสามารถจ่ายเงินทางอีเมล์ได้ทันทีค่ะ

จำไว้ว่าถ้าเป็นงานชิ้นแรกของน้อง น้องควรทำงานสุดฝีมือค่ะ เนื่องจากมีโอกาสสูงว่าถ้าลูกค้าต้องการงาน ก็อาจจะจ้างน้องทำงานค่ะ นั่นก็คือจะมี ชิ้นที่ 2,3 ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งบางทีลูกค้ามาจ้างน้องครั้งเดียวอาจจะหายไป อันนี้ให้มองมุมใหม่นะคะ ลูกค้าอาจจะไม่มีงานที่เข้ากับลายเส้นเราค่ะ อย่าไปมองโลกแง่ลบ



from WordPress http://ift.tt/2kcCz6k
via IFTTT

ไม่มีความคิดเห็น: